เคยได้ยินกันไหม การนับน้ำหนักข้าวโดยมีหน่วยนับเป็นหมื่นเป็นแสน การใช้หน่วยนับข้าว ว่าได้ข้าวกี่หมื่นกี่แสนนี้ใช้ในการนับข้าวของคนอีสาน ซึ่งเด็กรุ่นใหม่หลายๆคนอาจจะไม่คุ้นเคยแน่ๆ มาถึงตรงนี้หลายคนคงจะเริ่มสงสัยแล้วล่ะว่า ข้าว1หมื่น ข้าว1แสน นี่จริงๆแล้วมันคือกี่กิโลกรัมกันแน่ วันนี้ลูกหมีมีความรู้ดีๆจากเพจ ไรซ์สาระ มาฝากกันค่ะ
ชาวนาและโรงสีในภาคกลางจะซื้อขายข้าวเป็นถังหรือเกวียน ส่วนในภาคอีสาน เราขายข้าวเป็นหมื่นและแสนข้าวหนึ่งหมื่นเท่ากับ 12 กิโลกรัม ส่วนข้าวหนึ่งแสนเท่ากับสิบหมื่นหรือ 120 กิโลกรัม ถ้าเราเอาข้าวไปขายที่โรงสีหรือไปซื้อข้าวที่ร้านขายข้าวสาร พ่อค้าจะบอกราคาเราเป็นหมื่นละกี่บาท ซึ่งเราต้องเอา 12 ไปหารเพื่อที่จะได้ราคาต่อกิโลกรัม บางพื้นที่เช่นในจังหวัดอุบลราชธานีหรืออำนาจเจริญ จะซื้อขายกันในหน่วยแสนหรือ 120 กิโลกรัม
..
ข้าว 1 หมื่น เท่ากับ 12 กิโลกรัม
ข้าว 1 แสน (10 หมื่น) เท่ากับ 120 กิโลกรัม
การซื้อขายข้าวโดยนับเป็นหมื่นและแสนเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์โดยแท้เลยครับ ขอเรียกมันว่าวัฒนธรรมกระบุงหมื่น โดยจะพบการใช้หน่วยหมื่นและแสนซื้อขายข้าวลักษณะนี้ในกลุ่มชาติพันธุ์ลาวและผู้ไทในอีสานเหนือของประเทศไทยและลาวลุ่มในประเทศลาว แต่ไม่พบในกลุ่มคนเขมร ส่วย กูย หรือเยอในแถบอีสานใต้ หรือคนไทโคราช
นอกจากนี้ยังพบว่ามีเพียงข้าวเท่านั้นที่ซื้อขายโดยนับเป็นหมื่นหรือแสน สินค้าเกษตรชนิดอื่นไม่ใช้หน่วยการนับแบบนี้ เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง จะซื้อขายกันเป็นกิโลกรัมหรือตัน เราจะไม่ถามคนขายว่าทุเรียนหมื่นละกี่บาท หรือเงาะเข่งนี้หนักกี่แสน เพราะหมื่นและแสนเป็นเรื่องของข้าวล้วนๆ
ที่มาของการซื้อข้าวเป็นหมื่นเป็นแสน
โดยสาเหตุที่ซื้อขายข้าวเป็นหมื่นหรือ 12 กิโลกรัม เนื่องจากว่าในสมัยก่อนไม่มีเครื่องชั่ง การซื้อขายแลกเปลี่ยนข้าวจะใช้กระบุงในการตวงข้าว ซึ่งกระบุงนี้จะมีขนาดเป็นมาตรฐานทั่วลาวและภาคอีสานของไทย เนื่องจากว่าความยาวของตอกและจำนวนตอกที่ใช้สานจะใกล้เคียงกัน พอช่างสานกระบุงไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนตั้งแต่หลวงพระบางถึงอุบลสานออกมาก็จะได้กระบุงขนาดมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งกระบุงที่ว่านี้สามารถตวงข้าวเปลือกได้ประมาณ 12 กิโลกรัม หรือเรียกว่า หมื่น ดังนั้นกระบุงตวงข้าวจึงเรียกว่า กระบุงหมื่น ข้าวหนึ่งหมื่นจึงหมายถึงข้าว 1 กระบุงมาตรฐาน และข้าวหนึ่งแสนคือ 10 กระบุงมาตรฐาน
ยกตัวอย่างจากเหตุการณ์จริง เช่น นาย ก ไปยืมข้าวนาย ข จำนวน 10 กระบุง ตอนสิ้นปีนาย ก เกี่ยวข้าวเสร็จต้องเอาข้าวไปคืนนาย ข จำนวน 10 กระบุง แต่นาย ก ไม่มีกระบุงตวงข้าว นาย ก สามารถเอาข้าวที่ชั่งแล้ว 120 กิโลกรัม ไปคืนนาย ข โดยที่นาย ข ไม่รู้สึกเลยว่าข้าว 120 กิโลที่ได้คืนมานั้นมีปริมาณมากกว่าหรือน้อยกว่า 10 กระบุง เพราะในสำนึกของคนอีสานสมัยก่อน ข้าวเปลือก 1 กระบุงมาตรฐานมีค่าเท่ากับ 12 กิโลกรัมโดยไม่ต้องชั่ง
วันเวลาผ่านไป เครื่องชั่งมีราคาถูกลงและใช้กันแพร่หลาย กระบุงหมื่นจึงหมดความสำคัญลงไป ปัจจุบันไม่มีใครใช้กระบุงในการตวงข้าวอีกแล้ว แต่ทั้งชาวนาและโรงสีก็ยังรักษาระบบนี้ไว้อยู่ โดยโรงสีในอีสานจะซื้อข้าวโดยกำหนดราคาต่อ 12 กิโลกรัมหรือ 1 กระบุงหมื่น ไม่ได้บอกเป็นกิโลกรัมหรือตัน
นอกจากวงการข้าวแล้ว เรายังจะได้ยินคำว่าบั้งไฟหมื่น บั้งไฟแสน โดยบั้งไฟหมื่นก็คือบั้งไฟที่ใช้ขี้เกียหรือดินประสิวจำนวน 12 กิโลกรัม และบั้งไฟแสนใช้ประมาณ 120 กิโลกรัม
ในวงการช่างก็ใช้คำนี้เหมือนกัน เราจะเห็นว่าวัดหลายแห่งในภาคอีสานมีพระประธานชื่อ หลวงพ่อองค์แสน นั่นก็คือวัสดุที่ใช้หล่อพระหนัก 120 กิโลกรัมหรือ 120 หน่วยของงานช่างนั่นเองครับ
นับเป็นความรู้ใหม่ที่มีที่มาที่ไปจากเรื่องราววิถีชีวตของคนภาคอีสานในสมัยก่อน ทีนี้หากได้ยินคนพูดถึงน้ำหนักข้าวมีหน่วยเป็นหมื่นเป็นแสน คงจะไม่งงกันแล้วแน่นอน
ขอขอบคุณที่มาจาก :ไรซ์สาระ
ขอบคุณภาพจาก : ไรซ์สาระ , เพจข้าวสาร ข้าวเปลือกไก่ชน ราคาส่ง ร้านดวงดียิ่งเจริญจ.อุบลฯ